วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

แม่บทการบัญชี

                                                  



แม่บทการบัญชีเกี่ยวข้องกับเรื่องสำคัญ กล่าวคือ วัตถุประสงค์ของงบการเงิน ลักษณะเชิงคุณภาพ คำนิยาม การรับรู้ การวัดมูลค่าขององค์ประกอบต่างๆ ของงบการเงิน และแนวคิดเกี่ยวกับทุน และการรักษาระดับทุน ซึ่งในการจัดทำงบการเงิน ผู้จัดทำงบการเงินจึงควรเข้าใจถึงเรื่องสำคัญดังกล่าวข้างต้น และต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้งบการเงินส่วนใหญ่ในการจัดทำ และนำเสนองบการเงิน ซึ่งงบการเงินนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรายงานทางการเงิน

งบการเงินที่สมบูรณ์อาจประกอบไปด้วย งบดุล (งบแสดงฐานะการเงิน) งบกำไรขาดทุน (งบแสดงถึงผลการดำเนินงาน) งบแสดงการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงิน หมายเหตุประกอบงบการเงิน และข้อมูลเพิ่มเติมอื่นที่ได้มาจากงบการเงิน ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงินนั้น ทั้งนี้ งบการเงินไม่รวมถึงรายงานของผู้บริหาร สารจากประธาน และบทวิเคราะห์ต่างๆ ที่อาจปรากฏในรายงานประจำปี หรือรายงานการเงิน



ผู้ใช้งบการเงิน และความต้องการข้อมูล

1. ผู้ลงทุน คือ ผู้เป็นเจ้าของเงินทุน ที่ต้องการทราบถึงความเสี่ยงและผลตอบแทนจากการลงทุนซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจ ซื้อ ขาย หรือถือเงินลงทุนนั้นต่อไป และอาจรวมถึงการประเมินถึงความสามารถของกิจการในการจ่ายเงินปันผลอีกด้วย

2. ลูกจ้าง คือ ลูกจ้าง และกลุ่มตัวแทน ซึ่งต้องการข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคง และความสามารถในการทำกำไรของนายจ้าง รวมถึงการประเมินถึงความสามารถในการจ่าย ค่าตอบแทน บำเหน็จ บำนาญ และโอกาสในการจ้างงานในอนาคตด้วย

3. ผู้ให้กู้ คือ ผู้ที่ต้องการข้อมูลเพื่อพิจารณาว่าเงินที่ให้กู้ยืมนั้น รวมถึงดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น จะได้รับชำระเมื่อครบกำหนดหรือไม่

4. ผู้ขายสินค้า และเจ้าหนี้อื่น คือ ผู้ที่จะใช้ข้อมูลเพื่อตัดสินใจว่า หนี้สินอันเกิดจากการค้า จะได้รับชำระเมื่อครบกำหนด รวมถึงเพื่อประเมินถึงความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของกิจการในอนาคตอีกด้วย

5. ลูกค้า คือ ผู้ซึ่งต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานต่อเนื่องของกิจการ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องมีความสัมพันธ์หรือต้องพึงพากันในระยะยาว

6. รัฐบาล และหน่วยงานราชการ คือ กลุ่มที่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของกิจการเพื่อ การจัดสรรทรัพยากร การกำกับดูแล การกำหนดนโยบายทางภาษี และเพื่อเป็นฐานในการคำนวณรายได้ประชาชาติ เป็นต้น

7. สาธารณชน คือ ประชาชนผู้ที่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มความสำเร็จ และการดำเนินงานของกิจการ เพราะประชาชนอาจเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่เกิดจากผลกระทบของกิจการ เช่น การจ้างงาน การรับซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในท้องถิ่น เป็นต้น



ข้อสมมุติในการจัดทำงบการเงิน

1. เกณฑ์คงค้าง หมายถึง การที่งบการเงินจัดทำขึ้นภายใต้หลักที่ว่า “รายการ และเหตุการณ์ทางบัญชีจะรับรู้เมื่อเกิดขึ้น มิใช่เมื่อมีการรับ หรือจ่ายเงินสด หรือรายการเทียบเท่าเงินสด” ซึ่งข้อมูลของงบการเงินที่จัดทำขึ้นภายใต้เกณฑ์คงค้าง มีดังนี้

1) รายการค้าในอดีตที่เกี่ยวกับการรับและจ่ายเงินสด

2) ภาระผูกพันของกิจการที่ต้องจ่ายเป็นเงินสดในอนาคต และ

3) ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรที่จะได้รับเป็นเงินสดในอนาคต

2. การดำเนินงานต่อเนื่อง หมายถึง การที่กิจการไม่มีวัตถุประสงค์หลักที่จะเลิกกิจการ หรือลดขนาดของการดำเนินงานที่สำคัญในอนาคต หรืออาจกล่าวได้ว่า “กิจการจะดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และดำรงอยู่ต่อไปในอนาคตนั่นเอง”



ลักษณะเชิงคุณภาพของงบการเงิน

หมายถึง คุณสมบัติที่ทำให้ข้อมูลในงบการเงินมีประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงิน ซึ่งลักษณะหรือคุณสมบัติ ดังกล่าว มี 4 ประการคือ

1. ความเข้าใจได้

2. ความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ คือ ข้อมูลนั้นต้องช่วยให้ผู้ใช้งบการเงินสามารถประเมินเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมทั้งช่วยยืนยันหรือบ่งชี้ถึงความผิดพลาดของผลการประเมินที่ผ่านมาของผู้ใช้งบการเงินได้

3. ความเชื่อถือได้ คือ ข้อมูลที่ไม่มีข้อผิดพลาดที่สำคัญ และไม่มีความลำเอียงที่จะนำเสนอข้อมูลให้ผู้ใช้งบการเงินหลงเข้าใจตามที่ตนต้องการ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ข้อมูลนั้นต้องเป็นตัวแทนอันเที่ยงธรรมของข้อมูลที่ต้องการให้แสดง หรือควรแสดง ซึ่งการทำให้ข้อมูลนั้นเป็นตัวแทนอันเที่ยงธรรม อาจต้องประกอบด้วยหลักดังนี้

3.1 หลักเนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบ คือ ข้อมูลต้องบันทึก และแสดงตามเนื้อหา และความเป็นจริงเชิงเศรษฐกิจ มิใช่ยึดตามรูปแบบทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว เช่น การโอนกรรมสิทธิ์ กฎหมายถือว่า เมื่อมีการจดทะเบียนกันแล้วถือว่ากรรมสิทธิ์ได้โอนแล้ว แต่โดยเนื้อหาของสัญญายังระบุให้เจ้าของเดิมใช้ประโยชน์ได้อยู่ เป็นต้น

3.2 หลักความเป็นกลาง

3.3 หลักความระมัดระวัง เกิดจากความไม่แน่นอนในข้อมูลของงบการเงิน เช่น ความสามารถในการเก็บหนี้ ทำให้กิจการใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอข้อมูลโดยเปิดเผยข้อมูลถึงผลกระทบดังกล่าว ซึ่งกรเปิดเผยข้อมูลนั้น ขึ้นอยู่กับการใช้ดุลยพินิจของผู้จัดทำงบการเงินโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ใช้งบการเงินเป็นหลัก

3.4 หลักความครบถ้วน คือ ต้องพิจารณาจากการที่ข้อมูลนั้นไม่แสดงในงบการเงินจะทำให้ผู้ใช้งบการเงินใช้ข้อมูลผิดพลาดหรือไม่ หากไม่ทำให้การตัดสินใจของผู้ใช้งบการเงินผิดพลาด ก็อาจถือได้ว่า งบการเงินนั้นแสดงข้อมูลครบถ้วนแล้ว

4. การเปรียบเทียบกันได้ เป็นคุณสมบัติของงบการเงินที่มีประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงิน ที่จะเปรียบเทียบข้อมูลในงบการเงิน เพื่อคาดคะเนถึงแนวโน้มของ ฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานของกิจการ และยังช่วยในการประเมินถึง ฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินอีกด้วย ซึ่งสิ่งสำคัญของการเปรียบเทียบกันได้ของงบการเงินนั้น คือ นโยบายบัญชี หากนโยบายบัญชีที่ใช้ในการจัดทำงบการเงินที่นำมาเปรียบเทียบนั้น แตกต่างกันแล้ว การเปรียบเทียบกันของงบการเงินในเวลาที่ต่าง (ปีนี้ กับปีก่อน) ย่อมอาจเกิดข้อผิดพลาดได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น