วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

การบัญชีต้นทุนกับการบัญชีบริหาร

 การบัญชีต้นทุนกับการบัญชีบริหาร
  วัตถุประสงค์ของการบัญชีต้นทุน       วัตถุประสงค์ของการบัญชีคือ เพื่อทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลสำหรับการตัดสินใจ การบัญชีการเงินเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลแก่บุคคลภายนอกนำไปใช้เพื่อการตัดสินใจ เช่น ผู้ถือหุ้น ผู้ให้สินเชื่อ และหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น ในทางตรงกันข้ามโดยเบื้องต้นนั้นการบัญชีต้นทุนและการบัญชีบริหารมีความเกี่ยวข้องกันกับการทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลสำหรับการตัดสินใจแก่ผู้ใช้ข้อมูลภายในองค์กร ซึ่งก็คือผู้บริหาร อย่างไรก็ตามข้อมูลทางการบัญชีต้นทุนนั้นเป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้ในการจัดทำรายงานทางการเงิน 
การบัญชีการเงิน (Financial Accounting)       ข้อมูลในทางบัญชีการเงินเป็นสิ่งที่นำมาใช้เพื่อการนำเสนอต่อบุคคลภายนอกองค์กรในรูปแบบของงบการเงินต่างๆ ข้อมูลทางการบัญชีการเงินจะต้องเป็นไปตามหลักการบัญชีที่ยอมรับกันโดยทั่วไป (Generally Accepted Accounting Principles : GAAP) หลักการบัญชีที่ยอมรับกันโดยทั่วไปนั้นรวมถึงระเบียบแบบแผน กฎ ข้อบังคับ และวิธีการซึ่งกำหนดหรืออธิบายให้ทราบเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับกันในทางบัญชี การบัญชีต้นทุนและการบัญชีบริหาร (Cost Accounting and Management Accounting) 
      วัตถุประสงค์เบื้องต้นของการบัญชีต้นทุนและการบัญชีบริหาร (การบัญชีเพื่อการจัดการ) คือ ทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จะนำเสนอต่อผู้บริหารเพื่อการวางแผนและการควบคุม สมาคมนักบัญชีนานาชาติ (The National Association of Accountants : NAA) ได้อธิบายถึงการบัญชีบริหารไว้ดังนี้ “การบัญชีบริหารเป็นกระบวนการของการระบุ การวัดค่า การสะสม การวิเคราะห์ การจัดทำ การอธิบาย แปลความหมาย ตีความ และการสื่อสารข้อมูลทางการเงินที่ผู้บริหารจะนำไปใช้เพื่อการวางแผนงานการวัดผลงาน และการควบคุมภายในองค์กร” 
      การบัญชีต้นทุนเป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกันโดยพื้นฐานในส่วนของการจดบันทึกข้อมูล และการรายงานข้อมูลต้นทุนสินค้าที่ผลิตและการให้บริการ ซึ่งรวมถึงวิธีการในการรับรู้ การจำแนกประเภทต้นทุน การปันส่วน การรายงานข้อมูลต้นทุน การเปรียบเทียบข้อมูลต้นทุนกับต้นทุนมาตรฐาน แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันระหว่างการบัญชีต้นทุนและการบัญชีบริหาร แต่คำสองคำนี้ถูกนำมาใช้กล่าวถึงแทนกันบ่อยครั้ง 
การบัญชีต้นทุนสำหรับการวางแผนและการควบคุม 
      การบัญชีต้นทุนมีบทบาทสำคัญในกระบวนการที่มีความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างการวางแผนและการควบคุมการวางแผนรวมถึงการระบุหรือกำหนดเป้าหมายขององค์กร และการพัฒนาแผนงานเพื่อให้สามารถบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของกระบวนการวางแผนคือการพัฒนางบประมาณหรือแผนงานสำหรับการดำเนินงานขององค์กร การบัญชีต้นทุนทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่ต้องการนำมาใช้เพื่อการพัฒนางบประมาณ ในลักษณะของการกำหนดต้นทุนมาตรฐานโดยจะถูกนำมาใช้เพื่อการประเมินค่าต้นทุนการผลิตโดยประมาณ 
      การควบคุมรวมถึงการเปรียบเทียบผลการทำงานที่เกิดขึ้นจริงกับงบประมาณตามแผนงาน และการรายงานถึงการประเมินค่าผลการดำเนินงาน รายละเอียดบางอย่างโดยเฉพาะซึ่งรวมถึงการเปรียบเทียบต้นทุนจริงกับต้นทุนมาตรฐาน และการคำนวณผลต่าง การบัญชีต้นทุนจะทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จำเป็นเพื่อจะทำให้สามารถบรรลุผลสำเร็จในหน้าที่งานเหล่านั้นได้ 
      ในบางครั้งการวางแผนและการควบคุมสามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ การวางแผนกลยุทธ์ การควบคุม การบริหาร และการควบคุมการดำเนินงาน การวางแผนกลยุทธ์เป็นกระบวนการที่ระบุหรือกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ที่จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้ การควบคุมการบริหารงานเป็นกระบวนการที่ทำให้แน่ใจได้ว่าทรัพยากรที่กิจการมีอยู่นั้นได้ถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล รวมถึงมีความสอดคล้องกับกลยุทธ์และเป้าหมายขององค์กร ส่วนการควบคุมการดำเนินงานเป็นกระบวนการที่ทำให้แน่ใจได้ว่าหน้าที่งาน การดำเนินงานในทุกส่วนงานมีความพร้อมสมบูรณ์ที่จะทำให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล 
การบัญชีต้นทุนในแง่มุมทางเศรษฐศาสตร์ 
      ข้อมูลเกี่ยวกับการบัญชีต้นทุนสามารถนำมาพิจารณาในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ได้ในลักษณะของผลประโยชน์และต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนของการได้มาซึ่งชุดข้อมูลบางอย่าง หรือ ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการได้ทราบข้อมูลบางอย่างโดยเฉพาะ ซึ่งจะสงผลกระทบต่อการตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ดีกว่าจากการใช้ข้อมูลเหล่านั้น ในความเป็นจริงแล้วเมื่อพิจารณาในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ชุดข้อมูลบางอย่างโดยเฉพาะนั้นจะต้องมีมูลค่ามากกว่าต้นทุนที่เสียไปจากการจัดหาข้อมูลเหล่านั้น เช่น ในการตัดสินใจว่าควรจะทำการผลิตหรือหรือไม่โดยใช้ข้อมูลต้นทุนในลักษณะอื่นๆ ที่ให้รายละเอียดได้มากกว่ารายงานข้อมูลต้นทุน ต้นทุนของการได้มาซึ่งข้อมูลที่เพิ่มขึ้นควรจะต้องเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในครั้งนั้นด้วย เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น